คาวจบตบหวานในเมนูเดียว “คุกกี้ปลาฉิ้งฉ้าง เจ้าแรกภาคใต้” โดย PKRU และชุมชนเกาะยาวน้อย

(PRPKRU Content) ชาวบ้านเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา มีวิถีชีวิตล้อมรอบด้วยท้องทะเลอันดามัน ทั้งถิ่นพำนักและอาชีพ เพราะยังคงมีการทำประมง ออกเรือหาปลากันแบบรุ่นสู่รุ่น แม้จะได้การท่องเที่ยวเข้ามาเสริมรายได้ให้บ้างตามฤดูกาล แต่ประมงพื้นบ้านยังคงเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงครอบครัวท่ามกลางกุ้ง หอย ปู ปลา อันอุดมสมบูรณ์ ของฝากและของสินค้าส่งออกขึ้นชื่อที่กลายเป็นสินค้า “Must Try” ชนิดหนึ่งของเกาะยาวน้อย กลับกลายเป็นปลาขนาดเล็ก อย่างปลากะตัก หรือปลาฉิ้งฉ้างตากแห้ง รสชาติเค็มประสานหวาน กรุบกรอบ หอมกลิ่นอายทะเล

แต่เนื่องจากเกาะยาวน้อย มีหมุดหมายอยู่กลางทะเล ฝนตกบ่อย ส่งผลให้ไม่สามารถนำปลาฉิ้งฉ้างตากแดดได้แห้งทันตามสูตร ทำให้ผลผลิตน้อยลง ขาดช่วง รวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้ราคาที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อปลาจากชาวบ้านไม่แน่นอน จากปัจจัยดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยการดำเนินงานของ สถาบันวิจัยและพัฒนา ได้นำอาจารย์และนักศึกษาลงพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกับ กลุ่มสัมมาชีพชุมชนเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พัฒนาผลิตภัณฑ์ “คุกกี้ปลาฉิ้งฉ้าง (Anchovy Cookies)” ภายใต้แบรนด์ Le’ RIMLAY ซึ่งเป็นการต่อยอดสินค้า แปรรูปเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่แล้วอะไรหล่ะที่ทานได้ทุกเพศทุกวัย พกพาง่าย ขายได้ราคาดี เก็บได้นาน และมีจุดขายที่สื่อสารถึงของดีของเกาะยาวน้อย ? คำตอบนั่นก็คือ “คุกกี้ปลาฉิ้งฉ้าง” ซึ่งเป็นแห่งแรกของภาคใต้ อุบัติขึ้นจากไอเดียของชาวบ้านชุมชนเกาะยาวน้อย หากแต่ปัญหาในการทดลองผลิตคุกกี้ในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถคงเอกลักษณ์รสชาติของปลาฉิ้งฉ้างได้ เป็นโจทย์ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นำบุคลากรและนักศึกษาจากสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ และสาขาวิชานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้งานวิจัยด้านอาหาร/โภชนาการ และความเชี่ยวชาญในการออกแบบแพคเกจจิ้ง คลุกวงในร่วมกับชาวบ้านสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ นำโดย อาจารย์กมลวรรณ สุขสวัสดิ์ ได้ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย เสริมปลาฉิงฉ้างผง ผ่านกระบวนการทดสอบหลากหลายขั้นตอน จนได้สูตรคุกกี้เนยที่มีลักษณะกรอบร่วน และศึกษาการผสมปลาฉิงฉ้างผงในปริมาณที่เหมาะสม คือสัดส่วน 10เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้คงคุณค่าและสารอาหารทางโภชนาการ อย่าง โอเมก้า-3 / แคลเซียม / โพแทสเซียม ดึงกลิ่นความหอมของเนื้อปลา และตัดกลิ่นคาวปลาออก แต่ก็ยังคงได้กลิ่นและรสสัมผัสที่พอดีในแบบฉบับคุกกี้เนยอบ กรอบนุ่ม ได้รส “เค็ม มัน หวาน” เก็บได้นานกว่า 3 เดือน

เช่นเดียวกับ ผศ.ภูริณัฐ ปลัดสงคราม จาก สาขาวิชานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ที่ได้นำโจทย์ของชาวบ้านที่ต้องการวางจำหน่ายเป็นของฝากนักท่องเที่ยว ด้วยรูปลักษณ์แพคเกจที่หลากหลาย สะดุดตา อีกทั้งสามารถส่งออกจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างสะดวก รวมถึงมีการสร้างแบรนด์ขึ้นมาในชื่อ Le’ RIMLAY หมายถึงสิ่งเลอค่าจากท้องทะเล เพื่อทำตลาดในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของกลุ่มสัมมาชีพชุมชนเกาะยาวน้อยต่อไปสำหรับใครที่ต้องการออเดอร์ “คุกกี้ปลาฉิ้งฉ้าง” Le’ RIMLAY สามารถติดต่อได้ที่ โทร 08-1078-8146 / 09 8-323-7863

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้ส่งออกความรู้ งานวิจัย หลักวิชาการ จากห้องเรียนจากหนังสือและสื่อการสอน ไปสู่ท้องถิ่น สู่ชาวบ้าน ในหลากหลายพื้นที่จนสำเร็จเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ และช่วยเหลือชุมชนได้จริง ตามโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (เขตพื้นที่อันดามัน) หลังจากนี้ PKRU มีแผนที่จะพัฒนางานให้บริการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ครบวงจรมากขึ้น สามารถออกแบบ ผลิต และขอรับรองมาตรฐานได้แบบ One Stop Service เพื่อเพิ่มโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการ

Subscribe